นายวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AWS) ผู้พัฒนา-ผลิตระบบ AI retail vending machine และระบบ smart vending machine เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจหดตัวลง แต่ธุรกิจไอศกรีมในไทยกลับเป็นธุรกิจที่ยังดำเนินต่อไปได้อีก ทั้งมีโอกาสเติบโตสูง ทำให้ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทเดินหน้าพัฒนาระบบ รวมถึงดีไซน์ตู้ขายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ (soft serve) อัตโนมัติภายใต้แบรนด์ “HAKO” พร้อมจับมือกับโรงงานผลิตไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟคิดค้นสูตรไอศกรีมที่ใช้วัตถุดิบนมวัวเกรดพรีเมี่ยมขึ้นมา เพื่อเป็นจุดขายควบคู่กับความสามารถจำหน่ายได้ 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่ออกแบบให้สามารถดูข้อมูลหลังบ้านได้ทุกอย่าง อาทิ ข้อมูลการขาย จำนวนถ้วยที่เหลือ รวมถึงจะมีระบบการล้างตู้อัตโนมัติหลังจากที่ไอศกรีมเหลือในแต่ละวัน รวมถึงล้างตู้ทุก 2-3 วัน เพราะไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟส่วนใหญ่จะอยู่ในตู้ได้ไม่เกิน 2-3 วันเท่านั้น
นายวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AWS) ผู้พัฒนา-ผลิตระบบ AI retail vending machine และระบบ smart vending machine เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจหดตัวลง แต่ธุรกิจไอศกรีมในไทยกลับเป็นธุรกิจที่ยังดำเนินต่อไปได้อีก ทั้งมีโอกาสเติบโตสูง ทำให้ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทเดินหน้าพัฒนาระบบ รวมถึงดีไซน์ตู้ขายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ (soft serve) อัตโนมัติภายใต้แบรนด์ “HAKO” พร้อมจับมือกับโรงงานผลิตไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟคิดค้นสูตรไอศกรีมที่ใช้วัตถุดิบนมวัวเกรดพรีเมี่ยมขึ้นมา เพื่อเป็นจุดขายควบคู่กับความสามารถจำหน่ายได้ 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่ออกแบบให้สามารถดูข้อมูลหลังบ้านได้ทุกอย่าง อาทิ ข้อมูลการขาย จำนวนถ้วยที่เหลือ รวมถึงจะมีระบบการล้างตู้อัตโนมัติหลังจากที่ไอศกรีมเหลือในแต่ละวัน รวมถึงล้างตู้ทุก 2-3 วัน เพราะไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟส่วนใหญ่จะอยู่ในตู้ได้ไม่เกิน 2-3 วันเท่านั้น
“อุตสาหกรรมอาหารและกลุ่มไอศกรีม ก็ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตวัตถุดิบได้หลากหลายชนิด และมีรสชาติดี เราจึงได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว และนำมาประยุกต์ใช้กับตู้จำหน่ายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟอัตโนมัติที่เราออกแบบ และยังได้พัฒนาซอฟต์แวร์ในการควบคุมเครื่องจำหน่ายไอศกรีมอัตโนมัติ ให้กลายเป็นเครื่อง vending machine ที่สะดวกสบายสำหรับลูกค้า”
ล่าสุดเตรียมนำตู้จำหน่ายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟอัตโนมัติออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ โดยตั้งราคาจำหน่ายไอศกรีมในราคาถ้วยละ 69 บาท ส่วนตัวตู้จะเปิดจำหน่ายในระบบแฟรนไชส์ในราคาเริ่มต้น 9.9 หมื่นบาท โดยปี 2566 ตั้งเป้าติดตั้งตู้ทั้งรูปแบบแฟรนไชส์และที่บริษัทบริหารเองรวมกันประมาณ 100-200 ตู้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังที่ผ่านมาพัฒนาและทดสอบตู้จำหน่ายไอศกรีมอัตโนมัติมาเป็นเวลา 5-6 เดือน รวมถึงนำตู้ไปเปิดตัวในงาน SMART SME EXPO ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อทดลองตลาด และได้กระแสตอบรับดีมาก
ขณะเดียวกัน บริษัทยังลงนามความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตั้งโครงการวิจัยพัฒนาและการตลาดของผลิตภัณฑ์ไอศกรีมนมจิตรลดา เพื่อจำหน่ายผ่านตู้ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟอัตโนมัติของบริษัท และยังร่วมสนับสนุนในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรได้มีโอกาสนำวิชาการที่เรียนรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความสามารถ เพื่อต่อยอดในเชิงธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน โดยเชื่อว่าจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับทางสถาบันและนักศึกษา โดยมีแผนเริ่มติดตั้งตู้จำหน่ายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟนมจิตรลดาในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่าง ๆ ช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ เริ่มที่เมกาบางนาก่อนเป็นแห่งแรก และหลังจากนั้นก็จะขยายสาขาไปตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยในปี 2566 นี้ตั้งเป้าจะมีประมาณ 100 ตู้ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะจำหน่ายในราคาถ้วยละ 60 บาท โดยกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าจะค่อนข้างหลากหลาย ทั้งเด็กและวัยรุ่น รวมไปถึงบุคคลที่ชื่นชอบไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ซึ่งกลุ่มหลัก ๆ ส่วนใหญ่ก็จะยังเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าตู้จำหน่ายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟอัตโนมัติจะได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี เพราะรสชาติที่อร่อยของไอศกรีมนมจิตรลดา บวกกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยของตู้ จะสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้ลูกค้าที่ชื่นชอบไอศกรีมได้ รวมทั้งในอนาคตก็อาจจะมีสูตร หรือโปรดักต์ใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง